หลักการและเหตุผล
ผู้พิการทางสติปัญญา ทางจิตเวช ทางการเรียนรู้และออทิสติก เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหารุนแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม มีปัญหาตั้งแต่การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ว่างงาน มีฐานะยากจน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา บางรายถูกปฏิเสธและถูกทอดทิ้ง เป็นกลุ่มที่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผู้พิการกลุ่มนี้มีพยาธิสภาพที่มีผลต่อกระบวนการความคิด การรับรู้อารมณ์ และพฤติกรรมของผู้พิการทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคนทั่วไปในตลาดแรงงาน รวมทั้งอาจถูกเลือกปฏิบัติและถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงาน ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความรู้สึกหมดคุณค่า และหมดหวังในชีวิต
การที่จะให้ผู้พิการเหล่านี้ กลับมามีโอกาสในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ต้องอาศัยการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจ สังคม และอาชีพควบคู่กันไป จากการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูให้ผู้พิการเหล่านี้ มูลนิธิพลังใจมนารมย์พบว่าอุปสรรคจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้ผู้พิการไม่สามารถร่วมการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เพราะขาดปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพื่อให้การฟื้นฟูมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น ผู้พิการเหล่านี้ยังต้องการกำลังใจ และทุนสนับสนุนในการฝึกฝนพัฒนาให้สามารถดำเนินชีวิตได้
มูลนิธิฯ เล็งเห็นว่า การจ้างงานโดยมาตรา 35 โดยนายจ้าง เป็นการเปิดโอกาส และความหวังที่สำคัญยิ่งต่อผู้พิการเหล่านี้ นอกจากจะได้รับเงินเดือนที่ทำให้ลดความลำบากทางเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้เกิดศรัทธา เกิดความเชื่อมั่นว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งโดยสังคม เขายังมีที่ยืน มีผู้หยิบยื่นความช่วยเหลือและให้โอกาสจ้างงาน มีเงินเดือน ลดปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้มีกำลังใจและมีความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการบริหารจัดการเงินเดือน และดำรงชีวิตประจำวันของตนเองในระหว่างที่ได้ทุน ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญอันหนึ่งในการฝึกฟื้นฟูสมรรถภาพ และทักษะให้กลับไปดำรงชีวิตที่มีความสุขและมีศักดิ์ศรี ไม่กลับไปสู่วงจรของความเจ็บป่วยและความยากจนอีก


วัตถุประสงค์
ฟื้นฟูและฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการฯ โดยผู้พิการฯ ได้รับทุนจากมาตรา 35 จากนายจ้างหรือสถานประกอบการที่ประสงค์ที่สนับสนุนโครงการนี้ เพื่อให้ผู้พิการฯ ที่มีฐานะยากจน มีเงินเดือนเพียงพอในการดำรงชีวิตประจำวัน มีกำลังใจและแรงจูงใจในการที่จะร่วมโปรแกรมฟื้นฟูอาชีพอย่างมีความหวัง
- เพื่อให้ผู้พิการได้พัฒนาทักษะทางสังคม จิตใจ และอาชีพ รวมทั้งทักษะในการบริหารเงินของตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองได้รู้สึกมีคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในตนเอง
- สร้างความเข้าใจ ยอมรับในครอบครัว เมื่อผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามอัตภาพ เพื่อลดการถูกปฏิเสธ และถูกทอดทิ้งผู้พิการเหล่านี้
- ลดอคติและเพิ่มการยอมรับ ความเห็นใจและความช่วยเหลือจากสังคม
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้พิการทางจิตเวชเรื้อรังที่ถูกปฏิเสธ ถูกทอดทิ้ง และเร่ร่อน
- ผู้พิการทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ และออทิสติก
- ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนมีอุปสรรคในการดำรงชีพ และไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้

วิธีการดำเนินงาน
- ติดต่อหาทุนจากนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่สนับสนุนโครงการ โดยการจ้างงานตามมาตรา 35 ให้แก่ผู้พิการที่จะเข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ค่าอาหาร ค่าครองชีพ ระหว่างที่เข้าฝึกอาชีพ ค่าพาหนะ โดยใช้เงินเดือนที่ได้จากมาตรา 35
- อำนวยความสะดวกและดำเนินการด้านเอกสารแก่นายจ้าง ผู้ประกอบการ เพื่อความสะดวกในการยื่นต่อจัดหางานจังหวัดหรือเขต
- คัดกรองผู้พิการจากสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการประเมินผู้ป่วยและครอบครัว โดยการสัมภาษณ์ การตรวจประวัติการรักษา การประเมินสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการใช้เครื่องมือแบบประเมินทางจิตวิทยา ทางจิตเวช และทางสังคมสงเคราะห์โดยทีมสหวิชาชีพ
- คัดเลือกการฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้พิการ โดยสอดคล้องกับศักยภาพ ความสนใจ ความต้องการ ความชอบ สภาวะความเป็นจริง และความเหมาะสมของผู้พิการแต่ละราย
- ฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจและด้านสังคมควบคู่ไปกับการรักษาในระหว่างที่มีการฝึกอาชีพ

เงินสนับสนุนผู้พิการ
เงินสนับสนุนตามค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ (313 บาท) / ผู้พิการ 1 คน ต่อ วัน
รวม 114,245 บาท ต่อคน / ปี
สถานที่ดำเนินการ
สถาบันทางจิตเวชต่างๆ ที่ร่วมโครงการมูลนิธิพลังใจมนารมย์ เช่น
- โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
- โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
- โรงพยาบาลศรีธัญญา
ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
- ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจและร่วมมือในการฝึกอาชีพ ร้อยละ 80
- ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถบริหารเงินรายได้ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รู้จักการออมเงิน การจัดสรรเงินในการรักษาตัวและปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญต่อชีวิต
- ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เป็นของตัวเอง และช่วยลดภาระแก่ครอบครัว
การติดตามอาชีพและประเมินผลโครงการ
- ติดตาม โดย แพทย์และทีมสหวิชาชีพ ผู้ให้การรักษาในแต่ละแห่งที่ผู้ร่วมโครงการรักษาตัวอยู่
- ติดตามจาก การสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการ หลังการอบรมทุก 1-3 เดือน เป็นเวลา 2 ปี
- ติดตามจาก ครอบครัวและญาติของผู้เข้าร่วมโครงการ
- ติดตามจาก การโทรศัพท์ เยี่ยมบ้าน หรือประสานหน่วยงานภายนอกเพื่อติดตามผล


สรุปกฎหมายการจ้างงานมาตรา 33 – 35 สำหรับผู้ป่วยจิตเวช
สถานประกอบการ มีทางเลือกดำเนินการตามมาตรา 33, 34 หรือ 35
มาตรา 33
สถานประกอบการที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการเข้าทำงาน 1 คน (ทำงานที่บริษัท) อัตราส่วน 100:1 สิทธิเทียบเท่าพนักงานทั่วไป
ผลทางภาษี – หักเป็นค่าใช้จ่ายร้อยละ 200
มาตรา 34
ถ้าไม่สามารถจ้างคนพิการเข้าสถานประกอบได้ตาม ม.33 และ ม.35 ได้ ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ตามค่าแรงขั้นต่ำ
ของประเทศ (313 บาท) / ต่อ 1 คนพิการ / ต่อปี (ยอด 114,245 บาทต่อคน
โดยโอนให้กองทุนทั้งก้อน) ผลทางภาษี – หักเป็นเงินบริจาคร้อยละ 100
มาตรา 35
อาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ การจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ ของประเทศ (313 บาท) / ต่อ 1 คนพิการ / ต่อปี (ยอด 114,245 บาทต่อคน โดยโอนให้กองทุนทั้งก้อน) ผลทางภาษี – หักเป็นเงินบริจาคร้อยละ 100
ท่านช่วยเราได้อย่างไร
ท่านสามารถให้โอกาสแก่ผู้พิการกลุ่มนี้ตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยสนับสนุนทุนทรัพย์ ตามค่าแรงจ้างงานขั้นต่ำของประเทศ (313 บาท) ต่อผู้พิการ 1 คนต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 ปีรวม 114,245 บาทต่อคน / ต่อปี เงินทั้งหมดนี้ท่านสามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้พิการแต่ละรายโดยตรงเป็นรายเดือน ตลอดระยะเวลา 1 ปี
โดยมูลนิธิพลังใจมนารมย์ จะเป็นผู้คัดเลือกผู้พิการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ และเสริมศักยภาพทั้งทางจิตใจ สังคม และอาชีพ ร่วมกับสถาบันทางจิตเวชต่างๆ
